top of page
Writer's pictureregagar

ผื่น ไข้เลือดออก อันตรายหน้าฝน ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง!!

ผื่น ไข้เลือดออก เป็นอาการทางผิวหนังที่จะแสดงออกมาเมื่อลูกน้อยหรือผู้ใหญ่ติดเชื้อไข้เลือดออกนั่นเอง ซึ่งโรคไข้เลือดออกนี้ เป็นอีกหนึ่งโรคในช่วงหน้าฝนที่มาเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าโรคนี้มักเกิดจาก “ ยุงลาย ” เป็นตัวนำพาหะมาสู่คน และด้วยสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ก็ยิ่งทำให้เกิดการแพร่พันธุ์ยุงลายได้เร็วมากขึ้น ยิ่งช่วงหน้าฝน มีน้ำขังต่าง ๆ ก็ยังมีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเพิ่มขึ้น ทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคไข้เลือดออกได้มากขึ้นตามไปด้วย

ผื่น ไข้เลือดออก

โรคนี้สามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แน่นอนว่าเชื้อไข้เลือดอาจมีผลรุนแรงในผู้ป่วยบางราย ถึงขั้นทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ คุณพ่อคุณแม่ที่ยังมีลูกน้อยจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการของลูกน้อย และดูแลรักษาได้ทันท่วงที ดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ลูกน้อยมีอาการก็จะทำให้ผ่านพ้นระยะวิกฤตไปได้ด้วยดี ไม่ต้องกังวลว่าอาการจะรุนแรงเลย ดังนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น พร้อมกับวิธีสังเกตอาการ และวิธีดูแลลูกน้อยหากเป็นไข้เลือดออกกันค่ะ


ทำความรู้จักกับ ผื่น ไข้เลือดออก


ผื่นไข้เลือดออกนั้นจะแสดงอาการออกมาในระยะแรกเมื่อเริ่มติดเชื้อ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ โรคไข้เลือดออก กันก่อน โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) มีด้วยกันทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งความรุนแรงของอาการแต่ละสายพันธุ์เป็นได้แตกต่างกันไป หากเป็นแล้วก็สามารถเป็นซ้ำได้อีก แต่จะไม่เป็นสายพันธุ์เดิมที่เคยเป็น ที่สำคัญคือพบว่าในทารกต่ำกว่า 12 เดือน เด็กอายุ 7-8 ปี และผู้ที่เคยมีประวัติการเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้ว จะมีอาการหนักกว่าคนอื่น ๆ ทั่วไป


สัญญาณบ่งชี้ ว่าลูกน้อยเป็นไข้เลือดออก และลักษณะผื่นไข้เลือดออก


โรคไข้เลือดออกนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการของลูกน้อยได้จากสัญญาณต่าง ๆ ที่จะแสดงออกมาหลังจากรับเชื้อนี้ประมาณ 5 – 8 วัน ซึ่งแบ่งอาการออกได้เป็น 3 ระยะ ดังต่อไปนี้

ผื่นไข้เลือดออก ระยะไข้สูง

ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง : เริ่มมีไข้สูงกว่า 38 - 40 องศาเซลเซียส หรือตัวเย็น โดยอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส แม้ว่ากินยาก็ไม่ดีขึ้น เช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลด มักจะเป็นไข้สูงติดต่อกันอยู่ประมาณ 5-6 วัน ในเด็กบางรายก็อาจจะมีอาการปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้ อาเจียน กินอาหารได้น้อยร่วมด้วย นอกจากนี้ผื่น ไข้เลือดออกจะเริ่มออกในระยะนี้ จะเริ่มเป็น ผื่นแดง หรือจุดเลือดขึ้นตามร่างกาย หากคุณพ่อคุณแม่พบอาการดังนี้ให้นึกถึงไข้เลือดออกก่อนเสมอ และควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ดีที่สุด

ไข้เลือดอออก ระยะวิกฤติ

ระยะที่ 2 ระยะวิกฤติ : ระยะนี้เราจะเรียกกันว่า 3 วันอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ เพราะมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอาการช็อกได้ หลังจากระยะไข้สูง 3-6 วันไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงนี้อาจจะดูเหมือนลูกน้อยพูดคุยได้ดีปกติ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตว่าลูกน้อยรับประทานอาหารได้เหมือนเดิมหรือไม่ เพราะในช่วงนี้แม้ว่าจะดูปกติ แต่จะมีอาการปวดท้อง ท้องอืดมากขึ้น กระสับกระส่าย เบื่ออาหาร ผิวบริเวณต่าง ๆ มีลักษณะแดงปื้น ๆ อยู่ ในกรณีที่รุนแรงมาก อาจทำให้มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย อาการตอนแรกที่ดูเหมือนปกติอาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดว่า ลูกน้อยหายเป็นปกติแล้ว แต่นั่นก็ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ช็อกได้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องสังเกตให้ดีและรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ไข้เลือดออก ระยะฟื้นตัว

ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว : เป็นระยะที่ไข้ลด และไม่มีอาการช็อก ระบบการทำงานของเกล็ดเลือด ชีพจรปกติ ความดันโลหิตต่าง ๆ เริ่มคงตัวเข้าที่มากขึ้น ระยะนี้ลูกน้อยจะเริ่มอยากอาหาร ทานอาหารได้มากขึ้น และจะเริ่มมี ผื่นคัน เป็นจุดขาวบนผิวที่แดง และจะเริ่มมีอาการปัสสาวะมากขึ้นด้วย ถ้าลูกน้อยเริ่มมีอาการคัน ผื่นขึ้นตามแขน ขา คุณพ่อคุณแม่สบายใจได้เลยว่าลูกน้อยกำลังจะหาย พ้นระยะวิกฤตแล้วแน่นอน


การดูแลรักษาเมื่อลูกน้อยป่วยเป็นไข้เลือดออก

โรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยตรง เบื้องต้นคุณหมอจะรักษาไปตามอาการ

  • หากผู้ป่วยมีไข้มักจะให้เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้ แต่ ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เพราะเสี่ยงที่จะทำให้มีเลือกออกมากขึ้นได้

  • นอกจากนี้ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการลูกน้อยหากรับประทานอาหารได้น้อย อาจจะต้องให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ร่วมด้วย เพื่อให้ลูกน้อยอ่อนเพลียมากเกินไป


การป้องกันลูกน้อยไม่ให้เสี่ยงเป็นไข้เลือดออก

ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถฉีดในเด็กได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ รวมถึงผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกก็สามารถฉีดได้เช่นกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์อื่นนั่นเอง แต่ก็ยังมีวิธีป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเป็นไข้เลือดออกได้ด้วยวิธีป้องกันต่าง ๆ เหล่านี้

ไข้เลือดออก

  • สวมเสื้อผ้าให้ลูกน้อยปกปิดมิดชิด ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์มีกลิ่นฉุน เพราะอาจจะดึงดูดยุงลายเข้ามาหาลูกน้อยได้มากขึ้น เลี่ยงการพาลูกน้อยออกจากบ้านในช่วงกลางคืน

  • ใช้ผลิตภัณฑ์กันยุง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะต้องเลือกที่อ่อนโยนต่อผิวลูกน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวที่บอบบางอยู่นั่นเอง จะเลือกเป็นแบบครีม สเปรย์ หรือโลชั่นก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่สะดวกได้เลย แต่ไม่ควรใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 เดือน เพราะอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ รวมถึงคำเตือนต่าง ๆ ให้ละเอียด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดด้วย

  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ข้อนี้เรารู้กันอยู่แล้วว่า บริเวณที่มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นอย่างดี ยิ่งในช่วงหน้าฝนแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องระวังเป็นพิเศษ ควรปิดภาชนะเก็บน้ำต่าง ๆ ให้มิดชิด ส่วนของแจกัน หรือภาชนะอื่น ๆ ที่ไม่สามารถปิดฝาได้ ก็ให้หมั่นคอยเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ หรือใส่เกลือ น้ำส้มสายชู ลงไปในน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงวางไข่ได้

โรคไข้เลือดออก ทำให้ลูกน้อยมีผื่นในตั้งแต่ระยะแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตอาการโดยรวมให้ดี ป้องกันการสับสนระหว่างผื่นส่าไข้ และผื่นไข้เลือดออกนั่นเอง แนะนำว่าหากพบว่าลูกน้อยมีไข้สูงมากกว่า 2-3 วันควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลนครธน , โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ , พบแพทย์ (PobPad)

Comentários


bottom of page