top of page

โควิด สายพันธุ์ใหม่ XEC กับคนท้อง อันตรายมากน้อยแค่ไหน ? คุณแม่ต้องรู้!!

ในช่วงที่ผ่านมา “ โควิด ” ได้มีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ ซึ่งสายพันธุ์ล่าสุดที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในตอนนี้เลยก็คือ โควิดสายพันธุ์ XEC หลายคนอาจสงสัยว่า สายพันธุ์นี้ต่างจากเดิมอย่างไร และโดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร วันนี้เราจะพาคุณแม่มาทำความเข้าใจกันแบบง่าย ๆ ค่ะ

โควิด

โควิด สายพันธุ์ XEC คือ

สายพันธุ์ XEC เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ลูกผสม (recombinant variant) ของไวรัสโอมิครอนซึ่งเกิดจากการรวมกันของสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดก่อนหน้านี้ โดยอาจมีคุณสมบัติแตกต่างจากสายพันธุ์เดิมในเรื่องของความสามารถในการแพร่กระจาย ซึ่งโควิด XEC สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วขึ้นกว่าโอมิครอนเดิม 84–110% และยังสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน และอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้นได้ด้วย


โควิด

กลุ่มเสี่ยงหลักของโควิดสายพันธุ์ XEC ที่ควรเฝ้าระวัง  ได้แก่

  1. ผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) : มีภูมิคุ้มกันต่ำตามธรรมชาติ เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ หรือระบบหายใจล้มเหลว ทำให้เสี่ยงเสียชีวิตได้

  2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, โรคปอดเรื้อรัง, โรคไต, โรคหัวใจ โรคเหล่านี้ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อเชื้อไวรัสได้ช้าหรือไม่เต็มที่

  3. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง, ผู้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ, ผู้ติดเชื้อ HIV ที่ควบคุมไม่ได้ เป็นต้น เพราะไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอแม้ได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม

  4. หญิงตั้งครรภ์ : เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันมีการเปลี่ยนแปลง มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อแม่และทารกในครรภ์ได้

  5. เด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) : โดยเฉพาะเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือมีโรคประจำตัว เนื่องด้วยระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่

  6. ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ :  มีโอกาสติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรงมากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนครบและกระตุ้นแล้ว



คนท้องติดโควิดสายพันธุ์ XEC อันตรายมากน้อยแค่ไหน

สำหรับคนทั่วไป โควิดสายพันธุ์ XEC อาจไม่ได้รุนแรงมากนักในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันดีหรือเคยฉีดวัคซีนครบแล้ว แต่ในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันที่ลดลงตามธรรมชาติ ทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป

โควิด กับคนท้อง

ความเสี่ยงเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ติดโควิด

  • อาการโควิดอาจรุนแรงกว่าคนทั่วไป

  • เสี่ยงปอดอักเสบรุนแรง

  • เสี่ยงภาวะหายใจลำบาก

  • เสี่ยงครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด

  • ทารกในครรภ์อาจได้รับผลกระทบ เช่น น้ำหนักแรกเกิดต่ำ หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด



โควิด กับทารกในครรภ์

ผลกระทบต่อทารกในครรภ์ หากแม่ติดโควิดสายพันธุ์ XEC

  1. เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด : การติดเชื้อโควิดในช่วงไตรมาส 3 อาจกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวเร็วขึ้น เพิ่มความเสี่ยงคลอดก่อน 37 สัปดาห์ ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางปอด สมอง และภูมิคุ้มกันของทารกได้

  2. เสี่ยงน้ำคร่ำน้อย หรือรกทำงานผิดปกติ : เชื้อไวรัสอาจส่งผลทางอ้อมต่อระบบไหลเวียนของเลือดในรก ทำให้ส่งออกซิเจนและสารอาหารไปยังทารกในครรภ์ได้น้อยลง

  3. เสี่ยงภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (IUGR) : หากแม่มีอาการรุนแรงหรือขาดออกซิเจน ร่างกายจะชะลอการเจริญเติบโตของทารกได้

  4. เสี่ยงติดเชื้อหลังคลอด (แม้ไม่ติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์) : ทารกอาจไม่ได้ติดเชื้อจากรกโดยตรง แต่มีโอกาสที่จะติดภายหลัง จากแม่หรือผู้ดูแลหลังคลอด จึงจำเป็นต้องแยกแม่กับลูกน้อยชั่วคราวในบางกรณี ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงในขณะนั้น


โควิด กับคนท้อง

อาการที่ควรเฝ้าระวัง หากคุณแม่สงสัยว่าติดโควิด

  • ไข้สูง หนาวสั่น

  • ไอแห้ง เจ็บคอ

  • คัดจมูก น้ำมูกไหล

  • หายใจเหนื่อยง่าย

  • ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลียมากกว่าปกติ

  • สูญเสียการรับกลิ่นหรือรส

  • อาจมีอาการถ่ายเหลว ท้องเสีย ในบางราย

ถ้ามีอาการเหล่านี้ ควร ตรวจ ATK และรีบปรึกษาแพทย์หรือคลินิกฝากครรภ์ทันที



โควิด กับคนท้อง

การดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่อติดโควิด XEC

  • รีบแจ้งแพทย์ประจำตัวหรือโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ เพื่อประเมินสุขภาพแม่และลูก

  • พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะ ๆ และทานอาหารที่มีประโยชน์

  • อย่าใช้ยาเองเด็ดขาด ทุกการใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

  • แจ้งแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง เจ็บครรภ์ หรือลูกดิ้นน้อยลง



โควิด กับคนท้อง

วิธีป้องกันโควิด XEC สำหรับคุณแม่ท้อง

  • ฉีดวัคซีนโควิดตามคำแนะนำของแพทย์ : จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายแห่ง วัคซีนโควิดสำหรับคนท้องปลอดภัย และยังช่วยลดความรุนแรงของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนะนำเฉีดช่วงไตรมาส 2 ของการตั้งครรภ์ขึ้นไป หากฉีดครบแล้ว ยังสามารถรับ “เข็มกระตุ้น (booster)” ได้ตามคำแนะนำของแพทย์

  • ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล

  • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือระบบระบายอากาศไม่ดี

  • เลี่ยงการสัมผัสคนที่มีอาการป่วย

  • งดการเดินทางที่ไม่จำเป็น

  • พบแพทย์ทันทีหากมีอาการต้องสงสัย โดยเฉพาะหากมีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ความดัน



แม้ข้อมูลของโควิดสายพันธุ์ XEC จะยังไม่สมบูรณ์ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา คุณแม่ตั้งครรภ์ยังคงเป็นกลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษ การดูแลตัวเองอย่างใกล้ชิด ฉีดวัคซีน และอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ จะช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยปลอดภัยจากโควิดได้อย่างแน่นอน

Comments


bottom of page