ลูกผิวไหม้แดด (Sunburn) ทำยังไงดี ?
top of page

ลูกผิวไหม้แดด (Sunburn) ทำยังไงดี ?

ลูกผิวไหม้แดด (Sunburn) ทำยังไงดี ปัญหาผิวของลูกน้อยที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเจอในช่วงนี้ ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงซัมเมอร์ของไทย เป็นฤดูแห่งการท่องเที่ยว คุณพ่อคุณแม่ก็มักจะพาลูกน้อยออกไปเที่ยวกันบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทะเล หรือการทำกิจกรรมกลางแจ้งนอกสถานที่ต่าง ๆ และแน่นอนว่าแดดของประเทศเราก็แรงมาก เมื่อเราปล่อยให้ลูกน้อยอยู่กลางแจ้งนาน ๆ อาจจะทำให้เกิดอาการผิวไหม้แดด หรือ Sunburn ได้


ลูกผิวไหม้แดด Sunburn

อย่างที่บอกว่าอาการลูกผิวไหม้นั้นเกิดมาจากการที่ผิวลูกน้อยถูกแดดเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งแสง UV หรือ รังสีอัลตราไวโอเลตนั้นก็เป็นอันตรายต่อผิวของลูกน้อยเป็นอย่างมากเลยทีเดียว ก่อนที่เราจะไปดูว่าเราจะทำยังไงเมื่อลูกผิวไหม้แดด (Sunburn) เราไปทำความรู้จักกับอาการนี้กันก่อนดีกว่า


อาการของ ลูกผิวไหม้แดด หรือ Sunburn

ผิวไหม้แดด ( Sunburn ) มักเกิดจากการที่ลูกน้อยเล่นอยู่กลางแจ้ง แดดจัด ๆ เป็นเวลานาน ๆ ผิวได้รับกับแสง UV โดยตรง แม้เพียงแค่ 15 นาทีก็ทำให้ผิวลูกน้อยไหม้แดดได้เลย ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ช่วงที่แดดจัดเท่านั้นที่เป็นอันตรายต่อผิวของลูกน้อย แต่แดดในช่วง 9 โมง ถึงบ่าย 3 โมง ก็เป็นแสงแดดที่ทำอันตรายต่อผิวลูกน้อยเช่นกัน อาการที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ


ผิวไหม้แดด Sunburn

  • แสบผิว ลูกน้อยจะเริ่มรู้สึกแสบผิว ไม่สบายตัว งอแงอยู่บ้าง

  • ผื่นแดงไหม้ที่ผิวหนัง ต่อมาลูกน้อยจะเริ่มมีผื่นแดงไหม้ตามตัว อาจจะมีอาการคันร่วมด้วย ทำให้ลูกน้อยไม่สบายผิว ร้อนผิว แสบตลอดเวลา

  • ผิวแดง บวม พอง หรือมีอาการผิวลอก เมื่อลูกน้อยมีอาการผิวไหม้แดด แล้วคุณพ่อคุณแม่ทิ้งไว้นาน ๆ ผิวลูกน้อยจะแดงและมีอาการบวมพอง ตรงนี้ต้องระวังมากๆ เพราะการพองเป็นตุ่มน้ำ อาจจะทำให้ผิวหนังอักเสบ เกิดการติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นห้ามคุณพ่อคุณแม่แกะ หรือเจาะออกเด็ดขาด และเมื่อพองแล้วผ่านไปประมาณ 2-3 วัน ผิวลูกน้อยจะค่อยๆ ลอกเป็นแผ่น ทำให้สีผิวของลูกน้อยไม่สม่ำเสมอนั่นเอง

หากลูกน้อยอยู่ในกลางแดดบ่อย ๆ โดนแสง UV สะสมมาก ๆ และเป็นเวลานาน ก็อาจจะทำให้ลูกน้อยเป็น โรคมะเร็งผิวหนัง ได้


วิธีป้องกันอาการลูกผิวไหม้แดด (Sunburn)


ถ้าคุณพ่อคุณแม่ที่ชอบให้ลูกน้อยทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเตรียมตัวจะพาลูกน้อยไปเที่ยวทะเล หรือออกแดดจัด ๆ ก็ต้องเตรียมรับมือกับการเจอแสงแดดจัดๆ และต้องหาวิธีในการปกป้องผิวลูกน้อยไม่ให้เกิดผิวไหม้แดดด้วย ซึ่งวิธีป้องกันลูกน้อยเกิดผิวไหม้แดดคือ


ผิวไหม้แดด Sunburn

  • ทาครีมกันแดดก่อนออกแดด เลือกครีมกันแดดเด็กที่มี SPF50 PA+++ เพื่อปกป้องผิวลูกน้อยจากแสง UV ได้จริง แนะนำให้เลือกเป็นแบบ Physical ล้วน เพราะจะอ่อนโยนต่อผิวลูกน้อยอย่างสูงสุด ควรทาก่อนออกแดดทุกครั้ง และทาซ้ำให้ลูกน้อยทุก ๆ 1 ชั่วโมง ทำให้ทั่วทั้งใบหน้าและลำตัว

  • สวมเสื้อผ้าที่ปกคลุมผิว หรือแขนยาวขายาว เพื่อไม่ให้ผิวลูกน้อยปะทะกับแสง UV โดยตรง แต่แนะนำให้เลือกเนื้อผ้าที่โปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี ไม่ฉะนั้นอาจจะทำให้เกิดผดร้อน ผื่นอับชื้นตามมาได้

  • ให้ลูกน้อยจิบน้ำบ่อย ๆ ในระหว่างที่ลูกน้อยกำลังทำกิจกรรมกลางแจ้งนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นให้ลูกน้อยจิบน้ำบ่อย ๆ เพราะการอยู่กลางแดดจัดนาน ๆ จะทำให้ลูกน้อยอ่อนเพลีย และร่างกายของลูกน้อยสูญเสียน้ำไป ใต้ชั้นผิวเองก็เช่นกัน ก็อาจจะทำให้ผิวลูกน้อยแห้งไหม้ได้

ลูกผิวไหม้แดดไปแล้ว จะทำยังไง


หากลูกน้อยเกิดผิวไหม้แดดไปแล้วจะทำยังไง คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวล ให้ทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ เพื่อฟื้นฟูผิวลูกน้อยให้กลับดีขึ้นจากผิวไหม้แดดได้


ลูกผิวไหม้แดด Sunburn

  • ประคบเย็น เมื่อลูกน้อยเริ่มมีอาการผิวไหม้แดดแล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นประคบผิวบริเวณที่ผิวลูกน้อยมีอาการไหม้แดด เพื่อลดอาการแสบร้อนให้ลูกน้อยก่อนนั่นเอง

  • อาบน้ำเย็น หากลูกน้อยมีอาการเยอะ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ปรับมาเป็นการอาบน้ำเย็นแทน เพื่อลดความร้อนในผิวหนังลูกน้อย เมื่ออาบเสร็จแล้วคุณพ่อคุณแม่จะประคบเย็นเพิ่มอีกครั้งก็ทำได้เช่นกัน

  • ทาโลชั่นบำรุงผิว การทาโลชั่นจะช่วยลดอาการแสบร้อน และอาการคันได้ เลือกใช้โลชั่นที่ช่วยฟื้นฟูผิวลูกน้อย pH5.5 เพราะอ่อนโยนต่อผิวลูกน้อยที่สุด และควรเป็นโลชั่นเด็กที่ช่วยในการรักษาสมดุลในชั้นผิวให้ลูกน้อย ซึ่งจะช่วยในการกักเก็บน้ำไว้ใต้ชั้นผิวของลูกน้อยได้ดี รวมไปถึงเลือกที่มีวิตามิน B3 , B5 และวิตามิน E เพื่อให้ผิวลูกน้อยกลับมานุ่มชุ่มชื้น และแข็งแรงมากขึ้น

  • ทาว่านหางจระเข้ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีโลชั่นอยู่ในขณะนั้น ก็สามารถใช้ว่านหางจระเข้ ทาผิวให้ลูกน้อยได้ โดยให้ปอกเปลือกด้านนอกออก แล้วใช้วุ้นว่านหางจระเข้นั้นทาผิวบริเวณที่เกิดการไหม้ได้เลย ตัวว่านหางจระเข้ก็จะช่วยให้ผิวลูกน้อยเย็นลง ลดการแสบ ลดการอักเสบได้ดีเช่นกัน

ทั้งนี้หากผ่านไป 2-3 วันแล้ว อาการผิวไหม้แดดของลูกน้อยไม่ดีขึ้น หรือผิวลูกน้อยเกิดอาการเป็นตุ่มน้ำพอง คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไป พบแพทย์ผิวหนังทันที!!


หากไม่อยากพาลูกน้อยไปเที่ยวได้อย่างสนุก ไม่ต้องกังวลเรื่องผิวไหม้แดด คุณพ่อคุณแม่ควรป้องกันผิวลูกน้อยด้วยวิธีที่เราบอกไปข้างต้นก่อนลูกน้อยออกแดดทุกครั้งนะคะ

bottom of page