คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลาย ๆ ท่าน อาจจะยังคงตื่นเต้นกับการตั้งครรภ์ และยังไม่ทราบว่าควรไป ฝากครรภ์ เมื่อไหร่ และต้องทำอะไรบ้าง แล้วเมื่อไปฝากครรภ์คุณหมอจะตรวจอะไรบ้าง วันนี้เรามาดูกันว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างกันคะ
ฝากครรภ์ ควรฝากเมื่อไหร่
การฝากครรภ์ เป็นการติดตามสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งคุณแม่และลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรงและการตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงสามารถตรวจพบปัญหาหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและแก้ไขได้ทันเวลา ดังนั้นเราควรฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่ามีการตั้งครรภ์ อย่างช้าที่สุดควรฝากครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ หรือประมาณ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
นอกจากนี้ การฝากครรภ์เร็วจะช่วยให้คุณแม่ได้รับการแนะนำเรื่องการดูแลตัวเอง โภชนาการ การรับประทานยาบำรุง และการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ได้อย่างทันท่วงที
ตรวจครรภ์แต่ละครั้ง สิ่งที่คุณหมอจะตรวจคือ
การตรวจครรภ์แต่ละไตรมาสมีเป้าหมายและการตรวจที่แตกต่างกันไปเพื่อให้คุณหมอติดตามการพัฒนาของทารกและสุขภาพของคุณแม่ได้อย่างใกล้ชิด โดยแบ่งเป็น 3 ไตรมาสดังนี้
ไตรมาสที่ 1 ( ช่วงสัปดาห์ที่ 1-12 )
ในช่วงนี้เป็นระยะแรกของการตั้งครรภ์ คุณหมอจะตรวจและให้คำแนะนำเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
ซักประวัติสุขภาพ : ประวัติการเจ็บป่วย การใช้ยา และข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในอดีต (ถ้ามี)
ตรวจเลือด : ตรวจหาหมู่เลือด โรคโลหิตจาง ซิฟิลิส เชื้อ HIV และภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมัน
ตรวจปัสสาวะ : ตรวจหาโปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์และภาวะครรภ์เป็นพิษ
วัดความดันโลหิต : เพื่อดูว่าคุณแม่มีความดันโลหิตสูงหรือไม่ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้นั่นเอง
ตรวจอัลตราซาวด์ : เพื่อตรวจสอบการฝังตัวของทารกในมดลูกและยืนยันอายุครรภ์ที่แน่นอน
การให้คำปรึกษาเรื่องอาหารและวิตามิน : โดยเฉพาะกรดโฟลิก ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาสมองและไขสันหลังของทารก
ไตรมาสที่ 2 ( ช่วงสัปดาห์ที่ 13-26 )
ในช่วงนี้ทารกจะเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว และการตรวจจะเน้นไปที่การพัฒนาของทารกและสุขภาพของคุณแม่
ตรวจเลือดเพิ่มเติม : เป็นการตรวจหาภาวะโลหิตจางและการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานในครรภ์ (Glucose Screening)
อัลตราซาวด์สำคัญ : ตรวจโครงสร้างของทารก (Anomaly Scan) ประมาณสัปดาห์ที่ 18-20 เพื่อตรวจสอบการพัฒนาของอวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง หัวใจ กระดูกสันหลัง และแขนขา
วัดระดับการเต้นของหัวใจทารก : ตรวจสอบการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ เพื่อดูว่าสุขภาพของทารกเป็นปกติหรือไม่
ตรวจวัดระดับความสูงของยอดมดลูก : เพื่อดูการเจริญเติบโตของทารกตามอายุครรภ์
ตรวจน้ำหนักและความดันโลหิต : เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว ซึ่งสะท้อนถึงสุขภาพของทั้งคุณแม่และทารก และหาว่ามีภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือไม่
ตรวจการเคลื่อนไหวของทารก : คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกประมาณสัปดาห์ที่ 18-20 และคุณหมออาจถามเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของทารก เพื่อให้แน่ใจว่าทารกเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสมตามอายุครรภ์
ไตรมาสที่ 3 ( ช่วงสัปดาห์ที่ 27-40 )
ในช่วงนี้เป็นการเตรียมตัวสำหรับการคลอด คุณหมอจะเน้นการตรวจความพร้อมของทารกและคุณแม่
ตรวจวัดน้ำตาลในเลือดและโปรตีนในปัสสาวะ : เพื่อติดตามโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และภาวะครรภ์เป็นพิษ
ตรวจอัลตราซาวด์ : เพื่อตรวจสอบตำแหน่งทารก และการเจริญเติบโตของทารก เช่น การตรวจน้ำหนักและปริมาณน้ำคร่ำ เป็นต้น
วัดระดับการเต้นของหัวใจทารก : เพื่อประเมินสุขภาพและความปกติของทารกในครรภ์
ตรวจท่าทารกในครรภ์ : ตรวจดูว่าทารกอยู่ในท่าพร้อมคลอดหรือไม่ เช่น ท่าศีรษะลงหรือท่าก้น เป็นต้น
วัดความดันโลหิตและน้ำหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์ : เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ในช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์
ตรวจการหดรัดตัวของมดลูก : เพื่อตรวจดูสัญญาณการคลอด
ตรวจภายใน : เพื่อตรวจสอบการเปิดของปากมดลูกในช่วงใกล้คลอด
สิ่งที่คุณแม่ต้องเตรียมในการไปพบคุณหมอตรวจครรภ์แต่ละครั้ง
ความถี่ในการตรวจจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการตั้งครรภ์ และความเสี่ยงของแต่ละบุคคล โดยทั่วไปในช่วงไตรมาสแรกจะตรวจบ่อยที่สุด และจะค่อยๆ ทยอยลดลงเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่2 และไตรมาสที่ 3 และเพื่อให้การตรวจครรภ์เป็นไปด้วยดี แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เตรียมตัวดังนี้
บันทึกอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง จำนวนที่เป็น อาการที่คิดว่าไม่ปกติ หรืออาการที่แปลกไปจากเดิมจากปกติ เป็นต้น
เตรียมคำถามที่อยากจะถามกับแพทย์สูตินารีเวช ไม่ว่าจะมีข้อสงสัย หรือมีความผิดปกติอะไรควรถามคุณหมอเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง และป้องกันการเข้าใจผิดคิดไปเอง เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์ และลูกน้อยในครรภ์ด้วย
นำผลตรวจเลือด และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปด้วยทุกครั้ง เพื่อให้คุณหมอได้ตรวจวินิฉัยและให้คำแนะนำในการดูแลครรภ์ได้อย่างดี
การฝากครรภ์ และการตรวจเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ไม่ควรมองข้าม เพราะการตรวจต่างๆ ตามระยะเวลาของการตั้งครรภ์นั้น จะช่วยให้คุณหมอทราบถึงสภาวะสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ได้อย่างละเอียด และจะเตรียมการรับมือหากเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ทันเวลานั่นเอง
Comentarios